มีผลลัพธ์

ประวัติเทศบาล

หน้าหลัก >ประวัติเทศบาล

ประวัติความเป็นมาและโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลบางปลา

    การปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย มีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทดลองการปกครองท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาลขึ้นในกรุงเทพ ก่อนเมื่อ พ.ศ. 2440 และได้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพ ร.ศ.116 (พ.ศ.2541) แต่การจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพยังไม่มีลักษณะการปกครองตนเอง เพราะกำหนดให้มีผู้บริหารเป็นข้าราชการทั้งสิ้น ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม 2448 พระองค์ทรงจัดตั้งสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมอำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งถือว่าเป็นการปกครองท้องถิ่น แห่งแรกของประเทศไทยการจัดตั้งสุขาภิบาล มีลักษณะเป็นการกระจายอำนาจในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานรักษาความสะอาด เจ้าหน้าที่ส่วนมากเป็นข้าราชการและยังไม่มีอำนาจที่จะออกข้อบังคับในการดำเนินการเกี่ยวกับสุขาภิบาลและกิจการอื่น และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล 2476 และได้มีการจัดตั้งเทศบาลเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 โดยได้ยกฐานะสุขาภิบาลที่มีอยู่เดิม 35 แห่ง ซึ่งเป็นสุขาภิบาลเมือง 29 แห่งและสุขาภิบาลท้องที่ 6 แห่งขึ้นเป็นเทศบาล และได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับเทศบาลถึงปัจจุบันหลายครั้งกล่าวคือ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2481 และ พ.ศ. 2486 จนถึงปี พ.ศ. 2496 ซึ่งใช้เป็นหลักจนถึงปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543 ซึ่งได้ให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกการบริการประชาชน มีสิทธิ์เลือกการบริการกิจการเทศบาล ในรูปแบบคณะเทศมนตรี นายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง การจัดตั้งเทศบาลให้สอดคล้องกับการปกครองท้องถิ่นของไทยเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น มีอำนาจบริหารจัดการกันเองโดยบุคคลในท้องที่ที่ได้รับการเลือกตั้งจาก ประชาชนในท้องที่เป็นผู้บริหารและมีสมาชิกเทศบาลเป็นฝ่ายสภาเทศบาลได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้กำหนดไว้ท้องถิ่นใดอันควรยกฐานะเป็นเทศบาลให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นเทศบาล โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้เทศบาลเป็นทบวงการเมือง คือ มีฐานะเป็นนิติบุคคลได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการจัดตั้งเทศบาลไว้ 3 ประการ

    1. จำนวนและความหนาแน่นของประชากรในท้องถิ่นนั้น

    2. ความเจริญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยพิจารณาจากการจัดเก็บรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด และงบประมาณรายจ่ายในการดำเนินกิจการของท้องถิ่น

    3. ความสำคัญทางการเมืองของท้องถิ่น โดยพิจารณาถึงศักยภาพของท้องถิ่นนั้นว่าสามารถพัฒนาความเจริญได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด

    จัดตั้งสุขาภิบาลบางปลาอยู่ในเขตตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณหมู่ 4 คือชุมชนบางปลา ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของอำเภอเมืองสมุทรสาคร ด้วยพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาล พ.ศ. 2542 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 9 ก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 และจะมีผลทำให้สุขาภิบาลทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลในวันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 และได้มีคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ สค 0018.2/7687 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 การโอนพนักงานของสุขาภิบาลที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาล ให้สุขาภิบาลบางปลาเปลี่ยนเป็นเทศบาลตำบลบางปลา และกฎหมายได้กำหนด ให้เทศบาลแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร

    เทศบาลตำบลบางปลาจัดเป็นเทศบาลตำบลขนาดเล็กมีรายได้จริงไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่แล้วมา 12 ล้านบาทขึ้นไป มีประชากรตั้งแต่ 7,000 คนขึ้นไป ความหนาแน่น ของประชากร 1,500 คน/ตารางกิโลเมตร เป็นเทศบาลชั้นกลาง แบ่งส่วนราชการออกเป็น 6 กอง ได้แก่

สำนักปลัดเทศบาล

มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับราชการทั่วไปของเทศบาล และราชการที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดในเทศบาลโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับ และเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบายแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของเทศบาล

กองคลัง

มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานการจ่าย การรับ การนำส่งเงิน การเก็บรักษาเงิน และเอกสารทางการเงิน การตรวจสอบใบสำคัญ ฎีกา งานเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เงินบำเหน็จบำนาญ เงินอื่นๆ งานเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณฐานะทางการเงิน การจัดสรรเงินต่างๆ การจัดบัญชีทุกประเภท ทะเบียนคุมเงินรายได้และรายจ่ายต่าง ๆ การคว­บคุมการเบิกจ่าย งานทำงบทดลองประจำเดือน ประจำปี งานเกี่ยวกับการพัสดุของเทศบาล และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและที่ได้รับมอบหมาย

กองช่าง

มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการสำรวจ ออกแบบ การจัดทำข้อมูลทางด้านวิศวกรรม การจัดเก็บและทดสอบคุณภาพวัสดุ งานออกแบบและเขียนแบบ การตรวจสอบ การก่อสร้าง งานควบคุมอาคารตามระเบียบกฎหมาย งานแผนการปฏิบัติงานก่อสร้างและซ่อมบำรุง การควบคุม การก่อสร้างและซ่อมบำรุง งานแผนงานด้านวิศวกรรมเครื่องจักรกล การรวบรวมประวัติ ติดตาม ควบคุมการปฏิบัติงานเครื่องกล การควบคุมการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลและยานพาหนะ งานเกี่ยวกับแผนงานควบคุมเก็บรักษา การเบิกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ อะไหล่ น้ำมัน เชื้อเพลิง และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและได้รับมอบหมาย

กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

มีหน้าที่เกี่ยวกับสาธารณสุขชุมชน ส่งเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกันโรคติดต่อ งานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการด้านสาธารณสุข งานสัตวแพทย์ ในกรณีที่ยังไม่ได้จัดตั้งกองการแพทย์ จะมีงานด้านการรักษาพยาบาลในเบื้องต้นเกี่ยวกับศูนย์บริการสาธารณสุขและงานทันตสาธารณสุข

กองการศึกษา

มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการบริหารหารศึกษาและพัฒนาการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบการศึกษา การศึกษานอกระบบการศึกษาและการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น การจัดการศึกษาแบบปฐมวัย อนุบาลศึกษา ประถมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยให้มีงานธุรการงานการเจ้าหน้าที่งานแผนงานงานและโครงการ งานระบบสารสนเทศ งานงบประมาณ งานวางแผนงานบุคลากรและทะเบียนประวัติ งานการศึกษาปฐมวัย งานโรงเรียน งานพัฒนาสื่อเทคโนโลยี และนวต กรรม ทางการศึกษา งานส่งเสริมคุณภาพละมาตรฐานหลักสูตร งานกิจกรรมนักเรียน งานการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย งานฝึกและส่งเสริมอาชีพ งานห้องสมุด งานกิจกรรมเด็กและเยาวชน งานกีฬาและนันทนาการ งานกิจการศาสนา งานส่งเสริมประเพณีศิลปวัฒนธรรมและงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย